Table of Contents

บทความที่เกี่ยวข้อง

ghostwire: tokyo ปฏิบัติการกอบกู้โตเกียวจากกองทัพผีร้าย หนึ่งในประสบการณ์เกม Single Player อันยอดเยี่ยม

ghostwire: tokyo หลังจาก The Evil Within ทั้งสองภาค Tango Gameworks ภายใต้การดูแลของ Bethesda ก็ไม่มีผลงานใหม่ออกมาเลย และการกลับมาคราวนี้ ก็เปลี่ยนจากโลก Psychological

Read More »

dying light 2 ภาคต่อปาร์กัวร์ลุยซอมบี้ที่เหมือนจะดี แต่ยังไม่สุด

เปิดให้เล่นกันแล้วสักพักสำหรับ dying light 2 ที่ทำยอดผู้เล่นได้อย่างดีหลักแสนคนบน Steam หลังจากเปิดให้เล่นได้ไม่กี่วัน โดยจากความสำเร็จของภาคหนึ่งก็ทำให้มีใครหลายคนคาดหวังกับภาคนี้ไว้มาก แต่ถึงกระนั้นตัวเกมก็มีปัญหาอยู่หลายอย่างและอาจจะผิดหวังกับใครหลายคนได้เช่นกัน วันนี้เราจะมารีวิวทั้งด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดีของเกมนี้ให้ชมกันนะครับ ข้อดีของตัวเกม dying light 2 ภาคต่อของหนึ่งในเกมซอมบี้ยอดเยี่ยมที่ห่างกันถึง

Read More »

suicide squad: kill the justice league เกมเพลย์โลดโผน เนื้อเรื่องเสี่ยงบาทาแฟน DC’

**คำเตือน บทความรีวิวนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเกม
**บทความนี้ใช้โน้ตบุ๊กในการรีวิวเกม

suicide squad: kill the justice league แม้เกมจะขายตั้งแต่ 30 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา แต่ด้วยเลือดของแฟน DC ระดับชั้นผู้น้อย (ฮ่า ๆ) และความเชื่อมือใน Rocksteady Studios ผู้พัฒนาเกมนี้ เหนืออื่นใดก็ขอแก้ต่างตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้ Suicide Squad: Kill the Justice League เลย ว่านี่ไม่ใช่เกมที่ย่ำแย่เตี้ยต่ำดินเหมือนที่ใคร ๆ ก่นด่าขนาดนั้น มันยังเป็นเกมในสเกล AAA ที่มองเห็นได้ถึงความตั้งใจและลูกบ้าหลาย ๆ อย่างที่เข้ากับอัตลักษณ์ในความเป็น Suicide Squad แต่ … ในขณะเดียวกันก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีหลาย ๆ ส่วนมันไม่เวิร์กอย่างที่เสียงข้างมากเข้าบอกกันมา ฉะนั้นเรามาดูกันว่าจุดไหนละที่ดี ตรงไหนที่แย่!? ในรีวิวนี้ได้เลยครับ

suicide squad: kill the justice league Story – กล้า ท้าทาย ‘เรียกบาทาแฟน DC’

Task Force X ภารกิจใหม่ของพวกแก ‘ฆ่า Justice Leauge’

suicide squad: kill the justice league ค่ำคืนที่ทุกอย่างจะดูเหมือนปกติ แต่ที่หน้าทางเข้าของ Arkham Asylum โรงพยาบาลเฉพาะโรคทางจิตเวชสถานที่คุมขังเหล่าวายร้ายจำนวนมาก ได้มีขบวนรถกองกำลังทหารปริศนารีบเร่งเข้ามายังตัวอาคารอย่างมีนัยสำคัญ โดยกองทัพดังกล่าว คือ A.R.G.U.S (คำเต็มมันมีหลายเวอร์ชันเหลือเกินไม่ขอแปลนะ กลัวพลาด) กองกำลังความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ซึ่งมี อแมนดา วอลเลอร์ (Amanda Waller) เป็นผู้อำนวยการสูงสุด เธอได้ยื่นขอเสนอให้กับผู้ต้องขังทั้ง 4 ได้แก่ Deadshot นักฆ่าผู้ไม่เคยพลาดเป้า, Harley Quinn หญิงสาววิกลจริตผู้ไม่อาจเดาใจได้, Captain Boomerang อาชญากรที่รู้วิธีการรับมือ The Flash และ King Shark สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปริศนาครึ่งฉลาม ให้มาปกป้อง Metropolis นครแห่งความหวังที่ถูกรุกรานโดย Brainiac ที่ยังได้ทำให้ทีม Justice League ตกอยู่ใต้อาณัติของมัน ซึ่งหนทางเดียวที่จะเข้าถึงตัว Brainiac ได้ มีเพียงแต่การฆ่าซุปเปอร์ฮีโร่กลุ่มนี้ลงเท่านั้น!? ทั้ง 4 จึงต้องรวมตัวภายใต้ทีมเฉพาะกิจในชื่อ Task Force X ที่มองจากดาวอังคารก็ดูออก ว่านี่มันคือ ‘ภารกิจฆ่าตัวตาย’ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความหวังของโลกทั้งใบก็ขึ้นอยู่กับทีมรวมวายร้ายนี้อย่างเป็นทางการ

Superman ที่กลายเป็นตัวร้าย ฝันร้ายที่สุดของมวลมนุษยชาติ!

ผู้เขียนต้องขอชมทีมงานจากใจเลยว่าห้าวมาก! ที่กล้าจะนำเสนอเนื้อเรื่องออกมาได้ล่อบาทา เสี่ยงดราม่าจากแฟน DC แบบสุด ๆ และก่อนจะถลำลึกในเนื้อเรื่องไปไกล ผู้เขียนได้ใส่เสื้อเกราะกันกระสุนไว้แล้วด้วยการหมายเหตุว่าอาจมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ เพราะเนื้อเรื่องเกมนี้มันอ่อนไหวง่ายมากในแง่ความรู้สึกของแฟน ๆ ซึ่งนั่นก็หมายถึงผู้เขียนด้วยละนะ ฮ่า ๆ เอางี้ครับ ถ้าถอดฟีลเตอร์ความเป็นแฟนออกไป เอาจริง ๆ เนื้อเรื่องของเกมค่อนข้างน่าติดตามในระดับหนึ่งผ่านการนำเสนอสเกลของเหตุการณ์ที่มันเตลิดไปไกลสุดลูกหูลูกตาชนิดที่ว่าความวายป่วงที่เกิดไปก่อนหน้านี้ กลายเป็นเรื่องกระจิ๋วหลิวไปทันทีเมื่อได้เจอเข้ากับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในลำดับถัดไป จนต้องหันหลังกลับมาดูว่า เฮ้ย! ไอ้ทีมวายร้ายพวกนี้มันไปไกลได้ขนาดนี้เลยเหรอ?

เอาจริงดิ? ไม่ส่งกระสุนมากับจดหมายเลยละ

และอีกคำถามที่หลายคนน่าจะตั้งสงสัยกันตั้งแต่ตอนเห็นเทรลเลอร์แล้วว่าวายร้ายระดับตำบลทั้ง 4 คน (และตัว) จะรับมือกับสมาพันธ์ยุติธรรมได้จริงเหรอ? ได้อย่างไร? และด้วยอะไร? แต่เมื่อเกมดำเนินไปเรื่อย ๆ มันจะค่อย ๆ ไล่เรียงเหตุการณ์ที่ทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้มากขึ้น ในช่วงแรกเราแทบจะเห็นพ้องต้องกันกับตัวละครในเกมเลยว่าไม่มีทางเลยที่เราจะชนะทั้ง Justice League และ Brainiac แถมตัวเกมก็ขยี้เข้าไปอีกด้วยการนำเสนอความทรงพลังและความน่าเกรงขามของซูเปอร์ฮีโรแต่ละคน ที่ผู้เขียนถูกใจเป็นพิเศษคือซีเควนซ์โชว์เหนือของ ‘Batman’ ยิ่งพอตัวละครที่เราได้สวมบทเป็นวายร้าย มันคือประสบการณ์ที่เราจะได้สัมผัสเองกับตัวว่าการถูกอัศวินรัตติกาลล่าในความมืด ‘มันระทึกขวัญขนาดไหน’ แต่จากที่เหมือนจะไร้ทางสู้ เราจะเริ่มได้เห็นโอกาสมากขึ้นเรื่อย ๆ และในบทสรุปส่งท้าย คุณจะต้องไม่เชื่อกันแน่ว่า Suicide Squad โหดกว่าที่คิด

อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้เขียนชอบคือเคมีของตัวละครหลักทั้ง 4 ในจังหวะที่ต่อบทพูด ประชดประชัน หรือเหน็บแหนมกัน หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มันเข้าขั้นเลว มันช่างแสบเสียดทานอารมณ์ขันเรียกเสียงหัวเราะหรือรอยยิ้มที่มุมปากได้ตลอด เป็นสีสันที่รู้สึกได้เลยว่าเราคงไม่มีวันได้เห็นภาพนี้จากเกมที่ให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นซูเปอร์ฮีโรแน่ ๆ เพราะมันมีทั้งแม่สาวปากแซ่บจังหวะนรก, ครึ่งคนครึ่งฉลามซื่อบื้อ, อาชญากรแดนจิงโจ้ปากคอเราะร้าย (ตัวนี้ผู้เขียนถูกใจเป็นพิเศษ ให้เครดิตทั้งบทพูด และนักพากย์เต็ม ๆ คือถ้าในแง่ความสมเหตุสมผลว่ามีประโยชน์ในทีมมากน้อยขนาดไหนอันนี้ไม่รู้ครับ แต่ในแง่ความบันเทิง ความโดดเด่นด้านคาแรกเตอร์เอาไปเลย 10 กระโหลก!) และนักฆ่าที่จืดจางเอาใจผู้เล่นสายเงียบขรึม …

แต่ก็ด้วยความที่ผู้เล่นจะได้สวมบทเป็นวายร้ายที่ ‘ไม่ได้ถูกผูกมัดด้วยศีลธรรมนี่แหละ’ มันเลยเป็นการเปิดทางกลาย ๆ ให้ตัวเกมนำเสนอภาพของสิ่งที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะเกิดขึ้นได้กับซุปเปอร์ฮีโร่ที่เรารักยิ่ง ถ้าคุณเป็นแฟนเดนตายของ Justice League ไม่ว่าจะทั้งตามอ่านคอมิก, อ่าน Lore, ดูแอนิเมชัน หรือแม้แต่ภาพยนตร์ ที่ต่างก็นำเสนอบริบทของความเป็นวีรชนหรืออิสตรีอย่างสมศักดิ์ศรี เกมนี้อาจจะ ‘ไม่เหมาะกับคุณ’ เพราะต่อให้เกมนำเสนอความน่าเกรงขามของพวกเขาออกมาทั้งในแง่เนื้อเรื่องและฉากบอสไฟต์ยิ่งใหญ่อลังการขนาดไหน แต่ในแง่ความรู้สึกมันก็ล้ำเส้นหัวใจแฟนไปไกลมาก หลายคนน่าจะได้เห็นดราม่าที่เกี่ยวกับ เควิน คอนรอย ผู้ให้เสียงพากย์ Batman ตลอดมาที่เขาได้ฝากผลงานชิ้นสุดท้ายกันในเกมนี้กันไปแล้ว นั่นแหละครับ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากกว่าคุณรับสิ่งที่ตัวเกมนี้นำเสนอมันได้ไหม? ซึ่งถ้าหากรับได้ไม่ว่าจะในระดับไหน ก็ต้องขอบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะคุณจะได้ไม่พลาดเกมการเล่น Suicide Squad: Kill the Justice League มันเข้าขั้นสนุกจนลืมเวลาเลยละ

Gameplay – มันส์ ปราดเปรียว โลดโผน

Suicide Squad: Kill the Justice League มีแก่นการเล่นหลักของเกมเป็นแนวยิงมุมมองบุคคลที่ 3 แบบ Loot Shooter พร้อมกับมีระบบพัฒนาตัวละคร คล้าย ๆ เกมตระกูลซีรีส์ Borderland แต่จุดที่เกมนี้ทำได้ยอดเยี่ยมเด่นชัดออกมาเลย คือระบบการเคลื่อนที่ ซึ่ง Rocksteady Studios ทำได้ดีมากอยู่แล้วต่อยอดมาจากผลงานเก่า ๆ ของพวกเขาอย่างซีรีส์ Batman Arkham โดยระบบการเคลื่อนที่ของเกมนี้มันทั้งอิสระ ปราดเปรียว โจนทะยาน ที่มันก็เชิญชวนให้เราเดินทางไปมาผ่านฉากการเล่นขนาดใหญ่เป็นเมือง Metropolis อีกทอด ซึ่งผู้เล่นจะได้สลับไปมาระหว่างตัวละครได้อย่างอิสระที่มีรูปแบบการบังคับที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงอย่างมีนัยสำคัญ จนสามารถแบ่งแยกได้เลยว่าคุณถนัดและเข้ามือแบบไหน

  • Deadshot จะเป็นตัวละครที่มีการเคลื่อนที่เข้าใจง่ายที่สุดในเกม เด่นด้านการเหาะเหินด้วยไอพ่น ที่สามารถลอยค้างกลางอากาศได้ชั่วขณะ และพุ่งตัวไปทิศทางต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสมกับประเภทอาวุธที่ตัวละครนี้ใช้งานเป็นอย่างดี (เรื่องอาวุธเดี๋ยวว่ากันต่อในย่อหน้าถัด ๆ ไป)
  • Harley Quinn จมีความยืดหยุ่นที่สูงกว่าใครเพื่อนด้วยปืน Grapple Hook ที่สามารถยิงเกาะมุมตึกหรือหรือสิ่งปลูกสร้าง และสามารถห้อยค้างไว้อย่างนั้นเพื่อสร้างความเสียหายใส่ศัตรูจากมุมสูงจนกว่าจะปล่อยไก ที่แม้ความรวดเร็วอาจจะเป็นรองตัวละครอื่น แต่ตัวละครนี้มีความสามารถในการเคลื่อนที่แบบต่อเนื่องได้ดีที่สุด โดยหากในบริเวณนั้นไม่มีสิ่งใดให้ยึดเหนี่ยว เธอยังสามารถที่จะใช้ Grapple Hook ในการยึดตรึงโดรนคู่ใจของเธอ และต่อจังหวะด้วยการเกาะมุมตึกใหม่เพื่อโหนตัวได้อีกครั้ง
  • Captain Boomerang อู้วววววววววววววว ตัวนี้ผู้เมนผู้เขียนเลย ฮ่า ๆ นี่คือตัวละครที่เคลื่อนที่ได้ไวที่สุดในเกมด้วยพลังจากถุงมือ Speed Force ที่จะเป็นการปาบูมเมอแรงไปข้างหน้าและเทเลพอร์ตตัวเองแทนที่เมื่อสุดระยะที่เรากำหนด นอกจากนี้ยังสามารถบลิงก์ในการเคลื่อนที่ตามทิศทางที่กำหนดแบบรวดเร็วหนึ่งสเต็ปที่ก็ใช้เป็นการหลบหลีกการโจมตีศัตรูไปในตัว ซึ่งข้อเสียใหญ่ ๆ คือตัวละครนี้ใช้ความเคยชินในการควบคุมมากกว่าตัวอื่นพอสมควร แต่ถ้าถนัดแล้ว คุณอาจจะไม่เปลี่ยนตัวละครอีกเลยก็ได้ (ถ้าไม่ถูกเกมบังคับให้เปลี่ยนละนะ)
  • King Shark เป็นตัวละครที่อาจจะเคลื่อนที่ได้ไม่ค่อยสมใจนึก แต่จะมีประสิทธิภาพมากในแง่ใช้โจมตีศัตรู จุดเด่นของตัวละครนี้คือการกระโดดพุ่งตัวขึ้นกลางอากาศ และสามารถกดทิ้งตัวมาโดนศัตรูเพื่อสร้างความเสียหายและเก็บคอมโบได้ในทันที

และไม่ใช่แค่การเดินทางไปในฉากการเล่น แต่ในแง่การต่อสู้มันยังเป็นปัจจัยหลักของเกม ด้วยความที่เลเวลดีไซน์ของเกมนี้มันออกแบบมาให้เราต้องรับมือกับศัตรูที่กระจัดกระจายออกไปตามพื้นที่ต่างระดับ ตึกราบ้านช่องความสูงต่างกัน หรือจะเป็นผืนดินที่ถูกยกสูงขึ้นมา นั่นหมายความว่าการอยู่กับที่เราจะถูกศัตรูโอบล้อม และผู้เขียนบอกเลยศัตรูเกมนี้มันไม่ปราณีเรานะ มันพร้อมจะประเคนห่ากระสุนชุดใหญ่ใส่เราแบบไม่มีจังหวะพัก บีบให้เราต้องเคลื่อนไหวไปมายังพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดเวลาที่มันเป็นทั้งการหามุมได้เปรียบและการหนีตายไปในตัว ซึ่งในช่วงแรกของการเล่นมันจะโกลาหลวุ่นวายมาก ลำพังแค่ต้องเรียนรู้วิธีการเคลื่อนที่ให้ชินก็ปวดหัวจะตายอยู่แล้ว เกมมันยังบังคับให้เราไม่หยุดนิ่งอีก! ผู้เขียนสารภาพว่ากว่าจะรู้ซึ้งตรรกะการเล่นใช้เวลานานอยู่ แต่พอปรับตัวได้มันค่อนค้างเป็นเกมที่สนุกสุดเหวี่ยงไปกับการต่อสู้มันส์ ๆ ที่ลื่นไหลไร้รอยต่อเลยละ

อาวุธปืนเองก็เป็นตัวกำหนดแนวทางสไตล์การเล่นของเราแบบกลาย ๆ ที่มันจะเหมาะสมกับวิธีการเคลื่อนที่ของแต่ละตัวละคร แต่เกมก็พอจะอะลุ่มอล่วยให้ผู้เล่นอยู่เล็กน้อย ไม่ให้ผูกมัดว่าเล่นเป็นตัวนี้มันต้องสายนั้นสายนี้แบบเป๊ะ ๆ ด้วยการที่แต่ตัวละครจะมีปืนให้เลือกใช้ได้ 3 ประเภท แต่จะใช้งานในขณะต่อสู้ได้ 2 ประเภท ยกตัวอย่าง Deadshot ที่แน่นอนละว่ายืนพื้นให้เลือกใช้คือสไนเปอร์ (สัญลักษณ์ของความแม่นยำ พิฆาต เฉียบขาดอะนะ) แต่ถ้าคุณต้องการความยืดหยุ่นทั้งเรื่องของระยะหวังผลและอัตราการยิง ก็ยังมีอีก 2 ปืนให้เลือกใช้เป็นปืนไรเฟิลจู่โจมกับปืนพกสั้น หรือจะ Harley Quinn ตัวละครที่การเคลื่อนไหวยืดหยุ่นสูง อาวุธทั้ง 3 ของเธอเลยจะเป็นปืนพก ปืนกลเบา และปืนแกตลิง สนับสนุนความคล่องตัวของเธอ

ห้อยตัวกลางอากาศแล้วสาดกระสุนปืนแกตลิง!

ทีนี้มาขยายภาพการต่อสู้ในเกมกันหน่อย เอิ่บ … มันยากจริง ๆ ที่ผู้เขียนจะสรุปรวบยอดให้มันกระชับเข้าใจง่ายเพราะมันมีระบบอะไรมากมายเต็มไปหมด เริ่มจากระบบพลังชีวิตของเกมละกัน ตัวละครของเราจะมี 2 หลอด อันแรกคือเกราะ (ตามภาพคือสีฟ้ามุมซ้าย) ที่ฟื้นขึ้นเองไม่ได้ แต่เราสามารถหาเก็บได้จากการใช้สกิล หรือการยิงศัตรูที่ขาของศัตรูแล้วใช้ท่าโจมตีระยะประชิดในการเข้าไปเก็บเกราะมา (เสียงตอนฆ่าศัตรูกระชากเอาเกราะมาอย่างสะใจ!) ส่วนหลอดล่างสุดสีขาวจะเป็นพลังชีวิตที่แท้จริงที่จะเข้าก็ต่อเมื่อไม่มีเกราะให้ลดแล้ววิธีการฟื้นฟูกลับมาทำได้แต่ต้องหลบไปพักฟื้นสักพักใหญ่ ๆ (แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ บอกเลย ศัตรูมันตอดเราตลอด)

ส่วนการโจมตีระยะประชิด นอกเหนือจากไว้เข้าไปเก็บเกราะ ศัตรูบางประเภทเราต้องใช้ท่านี้ใส่ก่อนถึงจะยิงเข้าได้ และก็ยังมีระบบธาตุที่สามารถติดตั้งให้การกดโจมตีระยะประชิดค้างกับการกดปาระเบิดค้างเป็นการทำให้กลุ่มศัตรูติดสถานะต่าง ๆ เช่นแช่แข็ง, ตีกัน, ไฟไหม้ เป็นต้น (อันนี้ประสบการณ์ตรงนะ น้ำแข็งเวิร์กสุดเป็นธาตุแรกที่เกมมันนำเสนอและผู้เขียนก็ไม่เคยเปลี่ยนไปใช้อันอื่นอีกเลย ฮ่า ๆ)

และในเมื่อเป็นเกมจากทาง Rock Steady แน่นอนว่าต้องมีระบบเคาน์เตอร์อยู่ในเกม เพียงแต่จะมาในบริบทของเกมแนวยิงที่มันมีการใช้งานที่แปลกดี (อันนี้ชมนะ) หลักการมันคล้าย ๆ กับการเคาน์เตอร์ในเกมต่าง ๆ แหละ เพียงแต่เปลี่ยนจากการออกหมัดเป็นการยิงที่ต้องถูกจังหวะ ที่มันจะช่วยยกเลิกท่าโจมตีหนัก ๆ ของศัตรูได้พร้อมสร้างความเสียหายกลับไป ซึ่งด้วยความจังหวะการเล่นของเกมมันเร็ว นี่น่าจะระบบเดียวของเกมที่ใจดีกับผู้เล่นตรงที่ช่วงเวลาในการที่ศัตรูมันเปิดโอกาสให้เราเคาน์เตอร์จะนานประมาณหนึ่ง (ราว ๆ 3 – 4 วินาที ซึ่งสำหรับเกมนี้มันเร็วแล้วนะ)

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการความเก่งของผู้เล่น คือระบบพัฒนาตัวละคร เริ่มจากสกิลก่อนละกันครับ ทุกครั้งที่ตัวละครเราเลเวลอัป เราจะสามารถเลือกปลดล็อกทักษะต่าง ๆ ที่จะทำให้เราเก่งขึ้นทั้งการมาในรูปแบบสกิลติดตัว (Passive) เช่นเมื่อทำคอมโบได้ถึงระดับหนึ่ง การโจมตีของเราจะแรงขึ้น ทำให้เก็บเกราะได้มากขึ้น และในรูปแบบสกิลกดใช้ (Active) ที่จะส่งผลในการใช้งานทันทีเช่นสร้างความเสียหายแบบหมู่ หรือสังหารศัตรูแบบเดี่ยว ๆ เพื่อเก็บกระสุนและเกราะ

เห็นมันเยอะยั้วเยี้ยแบบนี้ แต่ถ้าชินมือแล้วก็ถือว่าสนุกไปกับความโกลาหล รวดเร็ว พลิ้วไหวอยู่นะ แต่ก็อีกนั่นแหละ … ถ้าเล่นไปอีกสักพักหนึ่ง คุณจะเริ่มเบื่อ ไม่ใช่จากเกมการเล่นนะ ‘แต่เบื่อจากภารกิจหลักและรองที่ซ้ำซาก’ กำจัดศัตรูให้ครบตามจำนวนโดยจะต้องใช้การโจมตีธาตุใส่ศัตรูก่อนถึงจะทำความเสียหายใส่พวกมันได้, กำจัดแท่นกระจายสัญญาณที่อยู่กันคนละตึก, ปกป้องรถไปให้ถึงจุดหมาย ฯลฯ ครั้งแรก ๆ ที่เจอภารกิจเหล่านี้มันก็ท้าทายแหละ แต่ถ้าต้องมาเล่นรูปแบบภารกิจเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมาตลอดทั้งเกม ใครมันจะทนไหว!

จังหวะปูทางก่อนเข้าสู่บอสไฟต์กับ Batman มันดันทำออกมาดีกว่าการต่อสู้จริง ๆ เสียอีก

และในการต่อสู้ระดับบอสของเกมที่เป็นเหล่าซูเปอร์ฮีโรจาก Justice League ผู้เขียนยอมรับว่า The Flash นี่ทำออกมาได้น่าประทับใจน่าเกรงขาม ได้ความรู้สึกไร้ทางสู้มาก แต่ตัวถัด ๆ มาความรู้สึกและวิธีการปราบมันมันกลับดรอปลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ ‘Batman’ ที่จังหวะการปูสถานการณ์ก่อนจะได้สู้กันจริง ๆ มันดันทำออกมาดีกว่า ผู้เขียนจะไม่สปอยล์ แต่เอาเป็นว่ามันไม่สมศักดิ์ศรีของความเป็น Batman สักเท่าไหร่

กับอีกจุดที่ผู้เขียนงงว่า Warner Bros. Games เขาคิดอะไรอยู่ในการทำให้เกมมันเป็น Live Service อันนี้คือถามจริง ถามจริ้ง ถามจริ๊ง!? เริ่มตั้งแต่เรื่องที่ชวนหงุดหงิดเลยคือเกมต้องต่ออินเทอร์เน็ต ไม่เช่นนั้นจะเล่นไม่ได้ และด้วยความที่ตัวเกมมันต้องส่งข้อมูลเข้าออนไลน์ การเปิดเกมจะเข้าไปเล่นแต่ละทีนี่รอเป็นหลักนาที คือมันไม่นานขนาดต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเสร็จ แต่มันก็ไม่ควรจะต้องให้ผู้เล่นมารออะไรแบบนี้ไหม? ทำไมไม่ไปโหลดตอนจังหวะหาคนเล่นในโหมดออนไลน์ และแน่นอนว่าถ้าเซิร์ฟเวอร์ปิดปรับปรุงคือเข้าเล่นไม่ได้ทันที! และถึงตัวเกมจะมีระบบเล่นออนไลน์แบบ Matchmaking แต่บทความรีวิวนี้ผู้เขียนไม่ได้เล่นกับใครเลย เพราะมันไม่มีคนมาจอยเลยน่ะสิ! ถ้าอยากจะ Co-op แนะนำให้หาเพื่อนร่วมชะตากรรมซื้อมาเล่นด้วยกันโดยเฉพาะ (ซึ่งก็ไปพิจารณาราคากับความคุ้มค่ากันเอาเองนะ …)

Graphic & Performance – สวย ลื่นไหล แต่พวกคุณเคยทำได้ดีกว่านี้นะ …

ชมก่อนและกัน นคร Metropolis ที่เกมนี้รังสรรค์ขึ้นมามันสวยงามและเต็มไปด้วยรายละเอียดที่พิถีพิถันมาก บรรดาอาคารสิ่งปลูกสร้างเป็นงานระดับเนี๊ยบที่เมื่อรวมเข้ากับระบบเคลื่อนที่ไปในเกม หลายจังหวะในการเล่นผู้เขียนก็มีเผลอเลยจุดภารกิจเลยด้วยซ้ำ แต่ … มันก็อดเอาไปเปรียบเทียบกับเกมจากปี 2015 ของพวกเขาไม่ได้ คุณรู้กันใช่ไหมว่าผมจะเขียนชื่อเกมอะไร … ครับ ‘Batman: Arkham Knight’ ถ้าวัดจากในแง่ประสิทธิภาพตั้งแต่ที่ตัวเกมวางจำหน่ายเกมนั้นอาจจะแย่กว่า แต่ในแง่โมเดลหรืองานกราฟิก มันยังคงเป็นเกมที่สวยและดูดีแม้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม ซึ่งถ้าเอา Suicide Squad: Kill the Justice League ไปเปรียบเทียบกัน คุณจะในรายละเอียดหลายจุดเลยว่ามันด้อยกว่าจริง ๆ

ในแง่ประสิทธิภาพของเกมเอาจริง ๆ ผู้เขียนก็ไม่ได้เจอบั๊กที่ทำให้เกมเล่นต่อไม่ได้ แต่เจอเข้ากับปัญหาเกมค้าง ซึ่งก็น่าจะโทษตัวเกมทั้งหมดไม่ได้ เพราะโน้ตบุ๊กที่ผู้เขียนใช้ สเปกไม่ได้สูงมาก แค่ใช้ CPU เป็น Intel Core i7 เจน 12 (i7-12700H) แรม 16GB DDR5 ส่วนการ์ดจอเป็น Nvidia Geforce RTX 3050Ti ซึ่งในแง่การนำไปใช้งานหรือเล่นเกมสเปกนี้มันจะถูกลดทอนความสามารถลงประมาณหนึ่ง (เพราะเรื่องการระบายความร้อน) แต่จุดที่คิดว่าน่าจะตำหนิเกมได้จริง ๆ คือหากเจอเข้ากับศัตรูจำนวนมาก และต้องเข้าคัตซีนในเวลาถัดมาแบบติด ๆ กัน จะเกิดอาการโหลดพื้นผิวไม่ทัน

Final Verdict – ไม่ได้แย่เหมือนที่ใครเขาว่ากัน ‘แต่มันก็ดีได้มากกว่านี้’

โดยภาพรวม Suicide Squad: Kill the Justice League ไม่ใช่เกมที่ย่ำแย่เตี้ยต่ำดินเหมือนที่ใคร ๆ กร่นด่าขนาดนั้น มันคือเกม AAA ที่คุณสามารถเอนจอยไปกับความกล้าบ้าบิ่นที่ไม่คิดว่าจะนำเสนอเนื้อเรื่องได้ท้าทายแฟน ๆ จนอยากให้ลองได้สัมผัสกันดู (เปิดใจให้เยอะ ๆ ด้วยนะ ฮ่า ๆ) ไหนจะระบบการเคลื่อนที่ที่มันทำออกมาได้สนุกมาก ล่าสุดที่ผู้เขียนฟินไปกับอะไรแบบนี้ก็นู่นเลย Marvel’s Spider-Man แต่ขอเถอะนะไอ้ความเป็น Live Service มันไม่เวิร์กอย่างแรงเลย เกมหน้าไม่เอาแล้วนะ Warner Bros. Games สู้ทำเกมเน้น Single Player มอบประสบการณ์ดี ๆ ให้ผู้เล่นไปเลย แล้วจะต่อยอดก็ค่อยอัปเดตมาทีหลังหรือเป็น DLC ก็ได้ ถ้าเกมมันดีจริง คนเขาก็ยอมจ่ายกัน suicide squad: kill the justice league

บทความที่น่าสนใจ